นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

นโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น


สารจากประธานกรรมการบริษัท

ในฐานะที่บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ อย่างโปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริต บริษัทจึงเข้าร่วมเป็นแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และได้รับการับรองให้เป็นสมาชิกโครงการ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 และได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้บุคลากรทุกระดับและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงานและ กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการเติบโต อย่างยั่งยืนสืบไป

ในนามของประธานกรรมการบริษัท ขอให้กรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มบริษัททุกท่านศึกษาทำความเข้าใจและปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ในมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อร่วมกัน พัฒนาบริษัทให้เป็นองค์กรที่โปร่งใส ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อันเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนิน ธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนสืบไป

 

 

 

 

 

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งสอดรับกับปรัชญาองค์กรที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความ โปร่งใส ดังรายละเอียดต่อไปนี้


นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นภายในองค์กร

บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และโปร่งใส และไม่กระทำการใดๆเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน ดังแนวปฏิบัติต่อไปนี้

  1. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ เรียก หรือ รับเงิน รวมถึง ผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นจากลูกค้า และคู่ค้า ของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวโยงกัน
  2. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ รับของขวัญที่มีมูลค่าเกินกว่าปกติตามประเพณีนิยมที่บุคคลทั่วไปพึง ปฏิบัติต่อกัน
  3. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับทำธุรกรรมกับบริษัทเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เว้นแต่เป็นธุรกรรมที่เป็นราคายุติธรรมตามราคาตลาดและเป็นธุรกรรมตามปกติ
  4. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ที่มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมในการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างของ
    บริษัทฯ
  5. ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลและใช้ทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวโยงกัน
  6. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับใช้ทรัพย์สินหรือเวลาของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตน
  7. บริษัทฯจะจัดให้มีการอบรมแก่พนักงานเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบในการ ปฏิบัติตามหน้าที่



นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นภายนอกองค์กร

บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ไม่กระทำการใดๆเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนรวมถึงการให้สินบนทุกรูปแบบแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังแนวปฏิบัติต่อไปนี้

  1. ไม่สนับสนุนการให้สินบนทุกรูปแบบแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งงานในธุรกิจของบริษัทฯ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
  2. จะดำเนินธุรกิจโดยปฏิบัติตามกฎระเบียบและขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดช่องทางให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบน
  3. บริษัทฯพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐเพื่อร่วมกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
  4. การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกด้วยการสังสรรค์ การเลี้ยงอาหาร หรือ การมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้กับบุคคลภายนอก จะต้องดำเนินการอย่างมีเหตุผลภายใต้เทศกาลและประเพณีปฏิบัติที่ดีงามโดยไม่ฟุ่มเฟือยเกินไปและสามารถตรวจสอบได้
  5. บริษัทฯสนับสนุนการสร้างค่านิยม และวัฒนธรรมให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานภายในองค์กร เพื่อให้เห็นว่าการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นและกระทำให้สังคมโดยรวมเสียหาย ทั้งไม่ใช่แนวทางการดำเนินธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน



นโยบายสร้างจิตสำนึกของผู้บริหารและพนักงานให้ละเว้นการทุจริตและคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ ตระหนักและรำลึกอยู่เสมอว่าการทุจริตและคอร์รัปชั่นนั้นเป็นสิ่งบั่นทอนทำลายองค์กรและสังคมโดยรวม จึงได้ขอให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ตามปรัชญาของบริษัทที่ว่า “ยึดมั่นในความเป็นธรรม ใส่ใจในคุณภาพ ซื่อสัตย์และตรงต่อเวลา ร่วมกันทำงานเป็นทีม”
บริษัทฯเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยการทำงานที่ทุ่มเท มีประสิทธิภาพ มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยไม่ต้องแสวงหารายได้ที่เกิดจากการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงกำหนดกรอบและนโยบายขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีกระบวนการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าวผ่านคู่มือปฏิบัติงาน ป้ายประกาศ เว็บไซต์ และกิจกรรมภายในองค์กร รวมถึง การประชุมที่จะสอดแทรกเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ในทุกๆครั้งเมื่อมีโอกาส


นโยบายและช่องทางการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนด้านการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ

เพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจและนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ (Whistle Blower) โดยเปิดโอกาสให้พนักงานและ ผู้มีส่วนได้เสีย แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อ

- การพัฒนา / ฝึกอบรม

- แก้ไข / ปรับปรุงด้านบริหารจัดการ

- ตรวจสอบข้อเท็จจริง


ช่องทางการรายงานที่กำหนดเพื่อแจ้งต่อบริษัทฯ ได้ทาง E-mail ของ

 

ประธานกรรมการตรวจสอบ :auditcommittee@lighting.co.th
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบริหารงานทั่วไป :preechat@lighting.co.th
ผู้จัดการสำนักผู้ตรวจสอบภายใน :jareeyas@lighting.co.th
เลขานุการบริษัท :cs@lighting.co.th

หรือ 539/2 อ.มหานครยิบซั่ม ชั้น 16-17 ถ.ศรีอยุธยา แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400


การคุ้มครองผู้ร้องเรียน (Whistle blower Procedures) ของบริษัทฯ

โดยกระบวนการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นธรรม โดยจะเก็บไว้เป็นความลับ ไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลและคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล ตามกระบวนการที่บริษัทฯกำหนดไว้และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวและหาแนวทางแก้ไข อีกทั้งปกป้องดูแลพนักงานที่ปฏิเสธการให้สินบน ถึงแม้ว่าการปฏิเสธดังกล่าวจะทำให้บริษัทเสียโอกาสทางธุรกิจ


การเข้าร่วมกิจกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

พนักงาน L&E ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็น Whistleblower โดยเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความผิดปกติ เพื่อสร้าง ความโปร่งใส การกำกับดูแลกิจการที่ดี และความยั่งยืนขององค์กร ในปี 2559 L&E ประกาศใช้นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ของ L&E และกลุ่ม L&E ทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานได้รับทราบและยึดถือเป็นบรรทัดฐานในกาปฏิบัติงาน รวมทั้งเผยแพร่ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับทราบและถือปฏิบัติ พร้อมทั้งดำเนินการตามกระบวนการให้การรับรอง (Certification Process) เพื่อให้คณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) รับรองสถานะของ L&E เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประกอบด้วยการจัดทำ “แบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน” (Self-Evaluation Tool for Countering Bribery) เพื่อประเมินจุดแข็ง ความครบถ้วน และประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัท โดย L&E ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกฯ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 และในปัจจุบัน L&E ได้เริ่ม ผลักดันให้บริษัทต่างๆ ประเมินความเสี่ยงด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อพัฒนามาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและผลักดันให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติตาม


นโยบายที่เกี่ยวข้อง

พนักงานมีหน้าที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจนโยบายนี้ ร่วมกับนโยบายและคู่มืออื่นๆของบริษัทฯดังนี้

  1. จรรยาบรรณธุรกิจ
  2. นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
  3. คู่มือพนักงาน
  4. นโยบายการให้ของขวัญและการเลี้ยงรับรอง



การกำกับติดตามและสอบทาน

  1. ขยายผลสู่ผู้เกี่ยวข้อง (Extended) (ระดับสูงสุด) : L&E ได้มุ่งเชิญชวนและส่งเสริมให้คู่ค้า ตัวแทนจำหน่าย เข้าร่วม โครงการรับรองเช่นเดียวกัน เพื่อตัดวงจรความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตตลอดสายโซ่อุปทานให้หมดไป แสดงให้เห็นว่า L&E มีการดำเนินการตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ครอบคลุมถึงบริษัทในกลุ่ม รวมถึงมีการผลักดันให้ ลูกค้า หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจ คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจร่วมดำเนินตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วน เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
  2. สำนักตรวจสอบภายในจะตรวจสอบระบบการควบคุมภายในและกระบวนการต่างๆอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบการควบคุมภายในมีประสิทธิผลในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้จะหารือผลการตรวจสอบรวมกับบุคคลที่ เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม และจะรายงานให้ฝายบริหารและคณะกรรมการการตรวจสอบได้รับทราบต่อไป
  3. คณะกรรมการตรวจสอบต้องทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำทุกปีและเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา อนุมัติหากมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งกำกับและติดตามการนำนโยบายฉบับนี้ไปปฏิบัติและให้คำแนะนำต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากต้องมีการปรับปรุงใดๆต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด